รักแห่งพุทธะ…ของสมเด็จพระสังฆราช

คงไม่เป็นการที่ง่ายดายเลยที่ พระอริยเจ้าซึ่ง“สังวรในญาณ”อย่างเคร่งขรึมเกือบตลอดเวลา ดุจดั่งอย่างท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร จะมีภาพที่น่ารักน่าศรัทธาอย่างยากจะพบเห็นที่ใดได้ถึุงเพียงนี้
แต่เหตุที่มี เพราะ“มีเหตุ”อันสมควร เมื่อครั้งที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯไปเยี่ยม“โรงเรียนเด็กหูหนวก”นั่นเอง
หนทางเดียวที่จะทรงแสดงความรักความเมตตาต่อเด็กผู้น่าสงสารเหล่านั้นได้ ก็มีเพียง“ภาษามือ”เท่านั้น
ภาพที่น่ารักน่าประทับใจที่สุดภาพหนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จฯท่าน จึงมีขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้แลฯ

 

“รักแบบโลกียะ” เป็นความรักแบบเด็กๆ  ย่อมเจือด้วยกิเลสและตัณหา มากด้วยอภิชฌาและความโลภอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นเหตุใหญ่
“รักแบบโลกุตระ” เป็นความรักแบบพุทธะ ย่อมเอิบอาบด้วยความรักและเมตตา ชื่นฉ่ำด้วยความเอ็นดูเอื้ออาทรอย่างไม่มีเงื่อนไข ไร้ความประสงค์เอากลับคืนแม้เพียงผลานิสงส์ทางใจต่อผู้อื่นเป็นสำคัญ
ไม่ทราบว่า ท่านทั้งหลายอยากจะเป็น“เด็ก”ดี หรือ“ผู้ใหญ่”ดี..?????

ในมงคลสมัยนี้ จักได้พรรณนาพระคุณอันประเสริฐแห่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธา และเพื่อน้อมนำรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐนั้นมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุข ความเจริญในธรรม ของเพื่อนมนุษย์ทั้งผอง

พระนามของสมเด็จพระสังฆราชในยุครัตนโกสินทร์นี้ จะใช้คำนำหน้าสี่ลักษณะคือ

ลักษณะแรก ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระสังฆราช ดังเช่นพระนามสมเด็จพระสังฆราช (สี) วัดระฆังโฆสิตาราม ในยุคสมัยรัชกาลที่ 1

ลักษณะที่สอง ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ดังเช่นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวงศ์ องค์พระอุปัชฌาย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ลักษณะที่สาม ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ดังเช่นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดราชบพิธ

ลักษณะที่สี่ ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ดังเช่น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งเป็นที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

การใช้คำนำหน้าพระนามสมเด็จพระสังฆราชนั้น น่าจะมีการคำนึงถึงภูมิธรรมและพระคุณของสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์ จึงเป็นที่มาของการพระราชทานนามตามพระสุพรรณบัตรในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์

ในยุครัตนโกสินทร์นี้ แม้ว่ามีสมเด็จพระสังฆราชมาแล้วหลายพระองค์ แต่ที่ได้รับพระราชทานนามตามพระสุพรรณบัตรว่า “ญาณสังวร” นั้นมีอยู่เพียง 2 พระองค์เท่านั้น

พระองค์แรกคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมอันประเสริฐยิ่งในพระพุทธศาสนา ทรงอภิญญา และอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นที่เลื่องชื่อลือชาแห่งยุครัตนโกสินทร์

พระองค์ที่สองคือสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ได้รับพระราชทานนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

และถ้าจะนับเนื่องในเรื่องทรงอภิญญา ทรงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็กล่าวได้ว่าในยุครัตนโกสินทร์นี้มีพระสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะเพียง 3 รูปเท่านั้น

นั่นคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) องค์ปัจจุบัน

พระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้นเป็นที่รู้ประจักษ์โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีก และในโอกาสนี้ย่อมสมควรกล่าวถึงพระคุณประการนี้ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันเป็นสำคัญ

ที่มาของคำว่า “ญาณสังวร” นั้นมาจากความสำรวมหรือความสังวรใน 3 ระดับ ตามภูมิธรรมในพระพุทธศาสนา คือ ศีลสังวร อินทรีย์สังวร และญาณสังวร

ศีลสังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในศีล โดยศีลที่ว่านี้หมายถึงศีล 2 ชนิด คือ ศีลซึ่งมีลักษณะเป็นพระวินัย ตามพระปาติโมกข์ชนิดหนึ่ง และศีลจากพระโอษฐ์ ซึ่งเป็นศีลที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเพื่อการศึกษาและปฏิบัติในการประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยแห่งพระบรมศาสดาโดยตรง ได้แก่ จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล เมื่อศีลสมบูรณ์บริสุทธิ์แล้ว ย่อมเป็นบาทฐานแห่งสมาธิและปัญญา เพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้นหรือนิพพานในที่สุด

อินทรีย์สังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในอินทรีย์ทั้งปวงโดยเฉพาะ ในที่นี้หมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีความเป็นปกติ ไม่วอกแวกหวั่นไหว เมื่อกระทบกับอายตนะภายนอก ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ต่างๆ ถึงซึ่งความเป็นอุเบกขา

ญาณสังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในญาณ ซึ่งครอบคลุมถึงรูปฌาน และอรูปฌาน ขึ้นไปจนถึงญาณทั้งสาม อันเป็นสุดยอดสามวิชชาในพระพุทธศาสนา คือบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตถญาณ และอาสวัคขยญาณ
พระนามญาณสังวรของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งสองพระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีที่มาจากคำว่าญาณสังวรและความหมายของญาณสังวรอันเป็นภูมิธรรมขั้นสูงและสูงที่สุดในพระพุทธศาสนานั่นเอง

ศีลสังวร อินทรีย์สังวร และญาณสังวร เมื่อบริบูรณ์แล้วพระตถาคตเจ้าทรงตรัสรับรองว่าสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้นานาประการ

อันสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ปัจจุบันนี้ ทรงอิทธิปาฏิหาริย์หลายประการ ทั้งอนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ และอิทธิปาฏิหาริย์
อนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ คือปาฏิหาริย์ในการเทศนาอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้ ให้เข้าใจ และสามารถน้อมนำพระธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมได้

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันนี้ทรงพระคุณอันประเสริฐในด้านอนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โปรดให้ทรงนิพนธ์คำสอนหลากหลายเรื่อง เพื่อเป็นคู่มือการศึกษาและปฏิบัติของชาวพุทธ อันมีประจักษ์พยานหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน

อิทธิปาฏิหาริย์คือการกระทำความมหัศจรรย์เหนือกว่าความสามารถของมนุษย์ธรรมดา ซึ่งในประการนี้คนจำนวนมากอาจไม่รู้หรือไม่ทราบ กระทั่งเข้าใจว่าทรงเป็นแค่พระสงฆ์ธรรมดา ที่ปฏิบัติธรรมวินัยไปตามปกติ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันทรงอิทธิปาฏิหาริย์ตามภูมิธรรมอันประเสริฐสูงที่พระองค์ทรงบรรลุแล้ว และเคยมีผู้เห็นประจักษ์หลายครั้ง ดังที่จะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

เมื่อร่วม 20 ปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประชวร สมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยสมเด็จพระราชาคณะที่ทรงภูมิธรรมขั้นสูงรวม 4 รูป ได้เข้าไปเฝ้าและเจริญสมาธิจิต กระทำสัตยาธิษฐานให้ทรงหายประชวร ก็ทรงหายประชวรโดยพลัน เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง

 

 

คงจำได้ข่าวใหญ่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2530 ต้นๆ ได้เกิดเหตุไฟไหม้ที่ชุมชนแออัดบางลำพู  หลังวัดบวรนิเวศ  ซึ่งตรงนั้นชาวบ้านอาศัยกันอยู่อย่างเนืองแน่น  ไฟได้เริ่มลุกขึ้นโหมแดง  เสียงรถน้ำของตำรวจหลายสิบคันมุ่งหน้ามาที่ซอยนี้  แต่ทว่ายังเข้าไม่ได้เพราะซอยเล็กมาก
มีเรื่องเล่ากันว่า  ในวันนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ทรงประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  ไม่มีภารกิจเสด็จไปไหน  เมื่อทรงทราบข่าวว่ามีไฟไหม้หลังวัด  ทรงดำเนินลงจากพระตำหนักมาทอดพระเนตรไปยังจุดที่เกิดเหตุอย่างจิตใจที่ตั้งมั่น  ไม่มีผู้ใดทราบได้ว่าพระองค์ทรงดำริอะไร  แม้แต่พระผู้ที่ติดตามในวันนั้น  นายตำรวจที่ติดตามในวันนั้นเองก็ไม่ทราบ
แต่ความอัศจรรย์ของอานุภาพแห่งธรรมได้ปรากฏ  เมื่อพระองค์ละสายตาจากการทอดพระเนตรที่เพ่งมองด้วยจิตตั้งมั่นแล้วไม่ช้าไม่นาน  ไฟที่ลุกโชตินั้นค่อยๆ  สงบลงอย่างช้าๆ  ทีละน้อยทีละน้อย  ทั้งที่รถน้ำยังไม่ได้ทำการฉีดน้ำสักหยดอย่างน่าตื่นตะลึงเป็นที่สุด..!!!!! 
ข่าวได้แพร่สะพัดไปอย่างกว้างขวางว่า 
ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรทรงอธิษฐานจิตดับไฟหลังวัดบวรนิเวศเพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนหลังวัดบวรนิเวศวิหารให้พ้นจากวิบัติภัย  นี่ก็นับได้ว่าเป็นความอัศจรรย์ของอานุภาพแห่งธรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งจะปรากฏและมีได้ต่อผู้ที่มีศีลและธรรมอันบริสุทธิ์  
พระองค์เคยตรัสสอนเหล่าภิกษุนวกะบ้างพอสังเขปในเรื่องลักษณะเหตุแห่งธรรม  ทรงตรัสว่า 
“หากเรามีศีลบริสุทธิ์  มีสมาธิที่สงบ  จิตตั้งมั่นดีแล้ว  อะไรๆ  ก็ปรากฏเกิดขึ้นได้  สิ่งเหล่านั้นก็เป็นธรรมะชนิดหนึ่งเหมือนกัน…”

“สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศนั้น ท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมอันเที่ยงแท้ต่อมรรคผลนิพพานแล้วน๊ะ..!!!!!!”

หลวงปู่เทศก์ เทศรังสี วัดหินหมากเป้ง หนองคาย

“คุณธรรมของสมเด็จวัดบวรนั้น พออยู่พอกินแล้วล่ะ..!!!!”

                                                                              หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร

 

“ท่านไม่ได้ใช้วาจาเลยนะ ไม่พูดเลย มีแต่เราพูดเล็กน้อย พอให้ท่านทราบเท่านั้น แล้วก็ไม่อยู่นานเวลาสำคัญๆท่านคุยธรรมะเรื่องภายในสำคัญๆ อยู่มาก เฉพาะสองต่อสอง เรื่องสำคัญท่านจะถามคุยกันธรรมดา ว่าท่านพูดน้อยท่านก็ไม่ได้พูดน้อย เวลาคุยกันเฉพาะสองต่อสองคุยกันธรรมดาเลยนะ เวลาออกสังคมท่านพูดน้อยมาก เวลาคุยกันสองต่องสองนี้คุยกันธรรมดาเลย มีอะไรท่านก็รับสั่งถามมา เราก็ตอบไปๆ ท่านถามข้ออรรถข้อธรรมข้อใด พูดกันธรรมดา แต่เวลาสิ่งสำคัญๆ ท่านมักจะถามเฉพาะสองต่อสอง อยู่วัดบวรฯก็ดี อยู่วัดป่าบ้านตาดก็ดี  ก็เราสนิทกับท่านมานาน เท่าไหร่แล้ว อยู่วัดบวรฯ มาด้วยกัน ท่านเคยไปเป็นพระภาวนาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดหลายครั้ง ครั้งละเป็นอาทิตย์….”

                                                    
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

 

“มาทำไมไกลๆให้ลำบากลำบนถึงที่นี่  อยู่กรุงเทพ ถ้าอยากกราบพระดีแล้ว ก็สมเด็จวัดบวรนั่นแหละ..!!!!”

                                                                             หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่


“สังฆราชเรียกฝนดับไฟ”
เมื่อประมาณปลายปีพ.ศ. 2534 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ที่ชุมชนตรอกบวรรังษี หลังวัดบวรนิเวศวิหารในตอนกลางดึกประมาณตี 1  ต้นเหตุเกิดจากบ้านของแขกขายถั่วซึ่งติดอยู่กับตึกสว.ธรรมนิเวศที่เตรียมทอดถั่วสำหรับขายในวันต่อไป  ไฟได้ลุกลามแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆอย่างใหญ่โตมโหฬารไม่อาจยับยั้งได้ อีกทั้งถนนเข้าชุมชนนั้นก็คับแคบมาก และมีสิ่งกีดขวางมากมาย ยากที่รถดับเพลิงจะเข้าไปทำการสกัดไฟใดๆได้
ศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชบางท่านได้ทุบประตูพระตำหนักชั้นบนอันเป็นที่ประทับอย่างแรง เพื่อปลุกเจ้าพระคุณสมเด็จฯให้หนีไฟ ซึ่งตอนนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชกำลังทรงนั่งสมาธิอยู่ จึงทรงมีรับสั่งสั้นๆอย่างพระทัยเย็นแต่เพียงว่า

“ไฟไหม้รึ..??”

ครั้นแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็ทรงครองจีวรเสด็จลงจากพระตำหนัก  ตอนนั้น พระสัทธิวิหาริกต้องการนำเสด็จไปที่ศาลา 150 ปีอันตั้งอยู่กลางวัด ซึ่งน่าจะเป็นที่น่าจะปลอดภัยกว่า  แต่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชมิโปรดที่จะกระทำเช่นนั้น แต่กลับเสด็จเข้าไปที่ใกล้ที่เกิดเหตุ ที่เพลิงกำลังโหมไหม้อย่างหนักหน่วงอยู่  โดยเสด็จขึ้นไปยังบนชั้น 5 ของตึกสว. ธรรมนิเวศซึ่งอยู่ติดๆกับเขตเพลิงไหม้อย่างน่ากลัวที่สุดโดยมิทรงหวั่นเกรงต่อภยันตรายใดๆ

เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชเสด็จขึ้นถึงชั้นที่ 5 ของตึกสว.ธรรมนิเวศ ก็มีรับสั่งให้ศิษย์เปิดหน้าต่างออก  ทำให้แลเห็นพระเพลิงกำลังโชนไหม้ชุมชนแออัดอย่างรุนแรง เสียงไฟที่กำลังโหมกระหน่ำ  เสียงผู้คนที่ขนของหนีไฟเอาชีวิตรอดดังอึงคะนึงสับสนอลหม่านระงมไปหมด เป็นที่น่าหวาดหวั่นปนน่าสังเวชเวทนาเป็นที่ยิ่ง

เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ก็ทรงมองตรงไปยังเบื้องหน้า  แล้วก็ทรงมองขึ้นไปยังฟ้าเบื้องบน ก่อนที่จะยกพระหัตถ์ขึ้นโบก 3 ครั้ง

และแล้ว สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่สุด ก็พลันบังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของทุกผู้คนในฉับพลัน

พริบตาเดียว  ก็ปรากฏมหาเมฆก้อนใหญ่ลอยเหนือบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ในทันใด  ลมที่กำลังกรรโชกแรงที่ทำให้ไฟไหม้แผ่ขยายรุนแรงยิ่งขึ้นก็หยุดกึกราวกับปิดสวิทซ์  แม้กระทั่งใบไม้ก็ไม่ไหวกระดิก

และในบัดดลนั้น ก็เกิดฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างหนัก  หนักเสียจนไม่มีทีท่าวี่แววว่าจะหยุดได้ง่ายๆ ทำให้เพลิงไหม้มหาวินาศนั้นค่อยๆบรรเทาความร้อนแรงลงจนมอดดับไปต่อหน้าต่อตาอย่างน่าตื่นตะลึงเป็นที่สุด..!!!!!!!!

เหตุการณ์ครั้งนี้  เกิดขึ้นตอนปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเป็น”ฤดูหนาว” ซึ่งตามธรรมดา ฝนได้ขาดช่วงไปตามธรรมชาตินานมากแล้ว….

เมื่อทอดพระเนตรเห็นฝนตกลงมาดับไฟ บรรเทาทุกขเวทนาแก่สัตว์ผู้ยากได้สมพระประสงค์แล้ว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชก็เสด็จกลับเข้ามากราบพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ชั้น 5 อยู่พักใหญ่ จากนั้นก็เสด็จลงมายังชั้นล่างของตึกสว.ธรรมนิเวศ
เพียงย่างพระบาทแรกที่เสด็จออกมา  ฝนที่กำลังตกอยู่ก็หยุด ฟ้าที่กำลังฉ่ำด้วยเม็ดฝนก็เปิดโล่งขึ้นมาในทันที  บรรดาชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ต่างก็มาคุกเข่ารับเสด็จ พลางส่งเสียงสาธุการแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชที่ได้ทรงพระเมตตา”เรียกฝนดับไฟ”ให้มอดดับไป  หลายๆคนต่างร่ำไห้น้ำตาไหลอาบหน้าด้วยความตื้นตันและซาบซึ้งในพระกรุณาปาฏิหาริย์ซึ่งทรงสำแดงให้ปรากฏต่อหน้าต่อตาของทุกๆคนอย่างที่ไม่มีใครอายใครฯ”

                                     เรียบเรียงจาก  “สมเด็จพระสังฆราช”โดย “กันตสีโลภิกขุ”(Karyl  Bilbrey) จากนิตยสาร “น่านฟ้า”และ “เจ้าประคุณ” โดย”บรรณศาลา”จากหนังสือ”รวมเรื่องเล่า สิ่งที่เห็น”)

 

สังฆราชองค์นี้ ดีที่สุด”

                                        หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ เลย

 

“หลวงตาอาจจะมีบารมีทางด้านคุ้มครองรักษาประเทศชาติไทยเราได้  แต่หากเป็นด้านค้ำจุนพระศาสนาแล้ว สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศจะมีบารมีมากกว่าเสียอีกน๊ะ..!!!!!!!!!!!”
 
                                                                หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

…………………………นิพพานะปัจจะโยโหตุ

ใส่ความเห็น

Filed under Uncategorized

ใส่ความเห็น