รักแห่งพุทธะ…ของสมเด็จพระสังฆราช

คงไม่เป็นการที่ง่ายดายเลยที่ พระอริยเจ้าซึ่ง“สังวรในญาณ”อย่างเคร่งขรึมเกือบตลอดเวลา ดุจดั่งอย่างท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร จะมีภาพที่น่ารักน่าศรัทธาอย่างยากจะพบเห็นที่ใดได้ถึุงเพียงนี้
แต่เหตุที่มี เพราะ“มีเหตุ”อันสมควร เมื่อครั้งที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จฯไปเยี่ยม“โรงเรียนเด็กหูหนวก”นั่นเอง
หนทางเดียวที่จะทรงแสดงความรักความเมตตาต่อเด็กผู้น่าสงสารเหล่านั้นได้ ก็มีเพียง“ภาษามือ”เท่านั้น
ภาพที่น่ารักน่าประทับใจที่สุดภาพหนึ่งของเจ้าพระคุณสมเด็จฯท่าน จึงมีขึ้นได้ด้วยประการฉะนี้แลฯ

 

“รักแบบโลกียะ” เป็นความรักแบบเด็กๆ  ย่อมเจือด้วยกิเลสและตัณหา มากด้วยอภิชฌาและความโลภอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อประโยชน์ส่วนตนเป็นเหตุใหญ่
“รักแบบโลกุตระ” เป็นความรักแบบพุทธะ ย่อมเอิบอาบด้วยความรักและเมตตา ชื่นฉ่ำด้วยความเอ็นดูเอื้ออาทรอย่างไม่มีเงื่อนไข ไร้ความประสงค์เอากลับคืนแม้เพียงผลานิสงส์ทางใจต่อผู้อื่นเป็นสำคัญ
ไม่ทราบว่า ท่านทั้งหลายอยากจะเป็น“เด็ก”ดี หรือ“ผู้ใหญ่”ดี..?????

ในมงคลสมัยนี้ จักได้พรรณนาพระคุณอันประเสริฐแห่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธา และเพื่อน้อมนำรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐนั้นมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อความสุข ความเจริญในธรรม ของเพื่อนมนุษย์ทั้งผอง

พระนามของสมเด็จพระสังฆราชในยุครัตนโกสินทร์นี้ จะใช้คำนำหน้าสี่ลักษณะคือ

ลักษณะแรก ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระสังฆราช ดังเช่นพระนามสมเด็จพระสังฆราช (สี) วัดระฆังโฆสิตาราม ในยุคสมัยรัชกาลที่ 1

ลักษณะที่สอง ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ดังเช่นสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระวชิรญาณวงศ์ องค์พระอุปัชฌาย์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ลักษณะที่สาม ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ดังเช่นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณสมเด็จพระสังฆราช (ปลด) วัดราชบพิธ

ลักษณะที่สี่ ใช้คำนำหน้าว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ดังเช่น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) วัดบวรนิเวศฯ ซึ่งเป็นที่สมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน

การใช้คำนำหน้าพระนามสมเด็จพระสังฆราชนั้น น่าจะมีการคำนึงถึงภูมิธรรมและพระคุณของสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์ จึงเป็นที่มาของการพระราชทานนามตามพระสุพรรณบัตรในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชแต่ละพระองค์

ในยุครัตนโกสินทร์นี้ แม้ว่ามีสมเด็จพระสังฆราชมาแล้วหลายพระองค์ แต่ที่ได้รับพระราชทานนามตามพระสุพรรณบัตรว่า “ญาณสังวร” นั้นมีอยู่เพียง 2 พระองค์เท่านั้น

พระองค์แรกคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงภูมิธรรมอันประเสริฐยิ่งในพระพุทธศาสนา ทรงอภิญญา และอิทธิปาฏิหาริย์ เป็นที่เลื่องชื่อลือชาแห่งยุครัตนโกสินทร์

พระองค์ที่สองคือสมเด็จพระสังฆราชองค์ปัจจุบัน ได้รับพระราชทานนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัตรว่าสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

และถ้าจะนับเนื่องในเรื่องทรงอภิญญา ทรงอิทธิปาฏิหาริย์ อันเป็นที่ประจักษ์แล้ว ก็กล่าวได้ว่าในยุครัตนโกสินทร์นี้มีพระสมเด็จพระสังฆราชและสมเด็จพระราชาคณะเพียง 3 รูปเท่านั้น

นั่นคือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) และสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ) องค์ปัจจุบัน

พระคุณของสมเด็จพระสังฆราช (สุก ไก่เถื่อน) และสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) นั้นเป็นที่รู้ประจักษ์โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีก และในโอกาสนี้ย่อมสมควรกล่าวถึงพระคุณประการนี้ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช องค์ปัจจุบันเป็นสำคัญ

ที่มาของคำว่า “ญาณสังวร” นั้นมาจากความสำรวมหรือความสังวรใน 3 ระดับ ตามภูมิธรรมในพระพุทธศาสนา คือ ศีลสังวร อินทรีย์สังวร และญาณสังวร

ศีลสังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในศีล โดยศีลที่ว่านี้หมายถึงศีล 2 ชนิด คือ ศีลซึ่งมีลักษณะเป็นพระวินัย ตามพระปาติโมกข์ชนิดหนึ่ง และศีลจากพระโอษฐ์ ซึ่งเป็นศีลที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนเพื่อการศึกษาและปฏิบัติในการประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยแห่งพระบรมศาสดาโดยตรง ได้แก่ จุลศีล มัชฌิมศีล และมหาศีล เมื่อศีลสมบูรณ์บริสุทธิ์แล้ว ย่อมเป็นบาทฐานแห่งสมาธิและปัญญา เพื่อถึงซึ่งความหลุดพ้นหรือนิพพานในที่สุด

อินทรีย์สังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในอินทรีย์ทั้งปวงโดยเฉพาะ ในที่นี้หมายถึงตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้มีความเป็นปกติ ไม่วอกแวกหวั่นไหว เมื่อกระทบกับอายตนะภายนอก ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ต่างๆ ถึงซึ่งความเป็นอุเบกขา

ญาณสังวร ได้แก่การสำรวมหรือสังวรในญาณ ซึ่งครอบคลุมถึงรูปฌาน และอรูปฌาน ขึ้นไปจนถึงญาณทั้งสาม อันเป็นสุดยอดสามวิชชาในพระพุทธศาสนา คือบุพเพนิวาสานุสติญาณ จุตูปปาตถญาณ และอาสวัคขยญาณ
พระนามญาณสังวรของสมเด็จพระสังฆราช ทั้งสองพระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีที่มาจากคำว่าญาณสังวรและความหมายของญาณสังวรอันเป็นภูมิธรรมขั้นสูงและสูงที่สุดในพระพุทธศาสนานั่นเอง

ศีลสังวร อินทรีย์สังวร และญาณสังวร เมื่อบริบูรณ์แล้วพระตถาคตเจ้าทรงตรัสรับรองว่าสามารถกระทำอิทธิปาฏิหาริย์ได้นานาประการ

อันสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ปัจจุบันนี้ ทรงอิทธิปาฏิหาริย์หลายประการ ทั้งอนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ และอิทธิปาฏิหาริย์
อนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ คือปาฏิหาริย์ในการเทศนาอบรมสั่งสอนเวไนยสัตว์ให้รู้ ให้เข้าใจ และสามารถน้อมนำพระธรรมคำสอนไปประพฤติปฏิบัติเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมได้

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันนี้ทรงพระคุณอันประเสริฐในด้านอนุศาสนีย์ปาฏิหาริย์ เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยมาแต่ครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่โปรดให้ทรงนิพนธ์คำสอนหลากหลายเรื่อง เพื่อเป็นคู่มือการศึกษาและปฏิบัติของชาวพุทธ อันมีประจักษ์พยานหลักฐานอยู่ในปัจจุบัน

อิทธิปาฏิหาริย์คือการกระทำความมหัศจรรย์เหนือกว่าความสามารถของมนุษย์ธรรมดา ซึ่งในประการนี้คนจำนวนมากอาจไม่รู้หรือไม่ทราบ กระทั่งเข้าใจว่าทรงเป็นแค่พระสงฆ์ธรรมดา ที่ปฏิบัติธรรมวินัยไปตามปกติ แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ปัจจุบันทรงอิทธิปาฏิหาริย์ตามภูมิธรรมอันประเสริฐสูงที่พระองค์ทรงบรรลุแล้ว และเคยมีผู้เห็นประจักษ์หลายครั้ง ดังที่จะยกมาเป็นตัวอย่างดังต่อไปนี้

เมื่อร่วม 20 ปีที่ผ่านมา ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประชวร สมเด็จพระสังฆราชพร้อมด้วยสมเด็จพระราชาคณะที่ทรงภูมิธรรมขั้นสูงรวม 4 รูป ได้เข้าไปเฝ้าและเจริญสมาธิจิต กระทำสัตยาธิษฐานให้ทรงหายประชวร ก็ทรงหายประชวรโดยพลัน เป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่ง

 

 

คงจำได้ข่าวใหญ่หน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ทุกฉบับเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2530 ต้นๆ ได้เกิดเหตุไฟไหม้ที่ชุมชนแออัดบางลำพู  หลังวัดบวรนิเวศ  ซึ่งตรงนั้นชาวบ้านอาศัยกันอยู่อย่างเนืองแน่น  ไฟได้เริ่มลุกขึ้นโหมแดง  เสียงรถน้ำของตำรวจหลายสิบคันมุ่งหน้ามาที่ซอยนี้  แต่ทว่ายังเข้าไม่ได้เพราะซอยเล็กมาก
มีเรื่องเล่ากันว่า  ในวันนั้น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ทรงประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร  ไม่มีภารกิจเสด็จไปไหน  เมื่อทรงทราบข่าวว่ามีไฟไหม้หลังวัด  ทรงดำเนินลงจากพระตำหนักมาทอดพระเนตรไปยังจุดที่เกิดเหตุอย่างจิตใจที่ตั้งมั่น  ไม่มีผู้ใดทราบได้ว่าพระองค์ทรงดำริอะไร  แม้แต่พระผู้ที่ติดตามในวันนั้น  นายตำรวจที่ติดตามในวันนั้นเองก็ไม่ทราบ
แต่ความอัศจรรย์ของอานุภาพแห่งธรรมได้ปรากฏ  เมื่อพระองค์ละสายตาจากการทอดพระเนตรที่เพ่งมองด้วยจิตตั้งมั่นแล้วไม่ช้าไม่นาน  ไฟที่ลุกโชตินั้นค่อยๆ  สงบลงอย่างช้าๆ  ทีละน้อยทีละน้อย  ทั้งที่รถน้ำยังไม่ได้ทำการฉีดน้ำสักหยดอย่างน่าตื่นตะลึงเป็นที่สุด..!!!!! 
ข่าวได้แพร่สะพัดไปอย่างกว้างขวางว่า 
ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวรทรงอธิษฐานจิตดับไฟหลังวัดบวรนิเวศเพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่อาศัยในชุมชนหลังวัดบวรนิเวศวิหารให้พ้นจากวิบัติภัย  นี่ก็นับได้ว่าเป็นความอัศจรรย์ของอานุภาพแห่งธรรมอย่างหนึ่ง  ซึ่งจะปรากฏและมีได้ต่อผู้ที่มีศีลและธรรมอันบริสุทธิ์  
พระองค์เคยตรัสสอนเหล่าภิกษุนวกะบ้างพอสังเขปในเรื่องลักษณะเหตุแห่งธรรม  ทรงตรัสว่า 
“หากเรามีศีลบริสุทธิ์  มีสมาธิที่สงบ  จิตตั้งมั่นดีแล้ว  อะไรๆ  ก็ปรากฏเกิดขึ้นได้  สิ่งเหล่านั้นก็เป็นธรรมะชนิดหนึ่งเหมือนกัน…”

“สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศนั้น ท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมอันเที่ยงแท้ต่อมรรคผลนิพพานแล้วน๊ะ..!!!!!!”

หลวงปู่เทศก์ เทศรังสี วัดหินหมากเป้ง หนองคาย

“คุณธรรมของสมเด็จวัดบวรนั้น พออยู่พอกินแล้วล่ะ..!!!!”

                                                                              หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร

 

“ท่านไม่ได้ใช้วาจาเลยนะ ไม่พูดเลย มีแต่เราพูดเล็กน้อย พอให้ท่านทราบเท่านั้น แล้วก็ไม่อยู่นานเวลาสำคัญๆท่านคุยธรรมะเรื่องภายในสำคัญๆ อยู่มาก เฉพาะสองต่อสอง เรื่องสำคัญท่านจะถามคุยกันธรรมดา ว่าท่านพูดน้อยท่านก็ไม่ได้พูดน้อย เวลาคุยกันเฉพาะสองต่อสองคุยกันธรรมดาเลยนะ เวลาออกสังคมท่านพูดน้อยมาก เวลาคุยกันสองต่องสองนี้คุยกันธรรมดาเลย มีอะไรท่านก็รับสั่งถามมา เราก็ตอบไปๆ ท่านถามข้ออรรถข้อธรรมข้อใด พูดกันธรรมดา แต่เวลาสิ่งสำคัญๆ ท่านมักจะถามเฉพาะสองต่อสอง อยู่วัดบวรฯก็ดี อยู่วัดป่าบ้านตาดก็ดี  ก็เราสนิทกับท่านมานาน เท่าไหร่แล้ว อยู่วัดบวรฯ มาด้วยกัน ท่านเคยไปเป็นพระภาวนาอยู่ที่วัดป่าบ้านตาดหลายครั้ง ครั้งละเป็นอาทิตย์….”

                                                    
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

 

“มาทำไมไกลๆให้ลำบากลำบนถึงที่นี่  อยู่กรุงเทพ ถ้าอยากกราบพระดีแล้ว ก็สมเด็จวัดบวรนั่นแหละ..!!!!”

                                                                             หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ วัดดอยแม่ปั๋ง เชียงใหม่


“สังฆราชเรียกฝนดับไฟ”
เมื่อประมาณปลายปีพ.ศ. 2534 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ใหญ่ที่ชุมชนตรอกบวรรังษี หลังวัดบวรนิเวศวิหารในตอนกลางดึกประมาณตี 1  ต้นเหตุเกิดจากบ้านของแขกขายถั่วซึ่งติดอยู่กับตึกสว.ธรรมนิเวศที่เตรียมทอดถั่วสำหรับขายในวันต่อไป  ไฟได้ลุกลามแผ่ขยายออกไปเรื่อยๆอย่างใหญ่โตมโหฬารไม่อาจยับยั้งได้ อีกทั้งถนนเข้าชุมชนนั้นก็คับแคบมาก และมีสิ่งกีดขวางมากมาย ยากที่รถดับเพลิงจะเข้าไปทำการสกัดไฟใดๆได้
ศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชบางท่านได้ทุบประตูพระตำหนักชั้นบนอันเป็นที่ประทับอย่างแรง เพื่อปลุกเจ้าพระคุณสมเด็จฯให้หนีไฟ ซึ่งตอนนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชกำลังทรงนั่งสมาธิอยู่ จึงทรงมีรับสั่งสั้นๆอย่างพระทัยเย็นแต่เพียงว่า

“ไฟไหม้รึ..??”

ครั้นแล้ว เจ้าพระคุณสมเด็จฯก็ทรงครองจีวรเสด็จลงจากพระตำหนัก  ตอนนั้น พระสัทธิวิหาริกต้องการนำเสด็จไปที่ศาลา 150 ปีอันตั้งอยู่กลางวัด ซึ่งน่าจะเป็นที่น่าจะปลอดภัยกว่า  แต่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชมิโปรดที่จะกระทำเช่นนั้น แต่กลับเสด็จเข้าไปที่ใกล้ที่เกิดเหตุ ที่เพลิงกำลังโหมไหม้อย่างหนักหน่วงอยู่  โดยเสด็จขึ้นไปยังบนชั้น 5 ของตึกสว. ธรรมนิเวศซึ่งอยู่ติดๆกับเขตเพลิงไหม้อย่างน่ากลัวที่สุดโดยมิทรงหวั่นเกรงต่อภยันตรายใดๆ

เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชเสด็จขึ้นถึงชั้นที่ 5 ของตึกสว.ธรรมนิเวศ ก็มีรับสั่งให้ศิษย์เปิดหน้าต่างออก  ทำให้แลเห็นพระเพลิงกำลังโชนไหม้ชุมชนแออัดอย่างรุนแรง เสียงไฟที่กำลังโหมกระหน่ำ  เสียงผู้คนที่ขนของหนีไฟเอาชีวิตรอดดังอึงคะนึงสับสนอลหม่านระงมไปหมด เป็นที่น่าหวาดหวั่นปนน่าสังเวชเวทนาเป็นที่ยิ่ง

เมื่อสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชทรงทอดพระเนตรเห็นเช่นนั้น ก็ทรงมองตรงไปยังเบื้องหน้า  แล้วก็ทรงมองขึ้นไปยังฟ้าเบื้องบน ก่อนที่จะยกพระหัตถ์ขึ้นโบก 3 ครั้ง

และแล้ว สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่สุด ก็พลันบังเกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาของทุกผู้คนในฉับพลัน

พริบตาเดียว  ก็ปรากฏมหาเมฆก้อนใหญ่ลอยเหนือบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ในทันใด  ลมที่กำลังกรรโชกแรงที่ทำให้ไฟไหม้แผ่ขยายรุนแรงยิ่งขึ้นก็หยุดกึกราวกับปิดสวิทซ์  แม้กระทั่งใบไม้ก็ไม่ไหวกระดิก

และในบัดดลนั้น ก็เกิดฝนตกกระหน่ำลงมาอย่างหนัก  หนักเสียจนไม่มีทีท่าวี่แววว่าจะหยุดได้ง่ายๆ ทำให้เพลิงไหม้มหาวินาศนั้นค่อยๆบรรเทาความร้อนแรงลงจนมอดดับไปต่อหน้าต่อตาอย่างน่าตื่นตะลึงเป็นที่สุด..!!!!!!!!

เหตุการณ์ครั้งนี้  เกิดขึ้นตอนปลายเดือนธันวาคม ซึ่งเป็น”ฤดูหนาว” ซึ่งตามธรรมดา ฝนได้ขาดช่วงไปตามธรรมชาตินานมากแล้ว….

เมื่อทอดพระเนตรเห็นฝนตกลงมาดับไฟ บรรเทาทุกขเวทนาแก่สัตว์ผู้ยากได้สมพระประสงค์แล้ว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชก็เสด็จกลับเข้ามากราบพระพุทธรูปซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ชั้น 5 อยู่พักใหญ่ จากนั้นก็เสด็จลงมายังชั้นล่างของตึกสว.ธรรมนิเวศ
เพียงย่างพระบาทแรกที่เสด็จออกมา  ฝนที่กำลังตกอยู่ก็หยุด ฟ้าที่กำลังฉ่ำด้วยเม็ดฝนก็เปิดโล่งขึ้นมาในทันที  บรรดาชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์ต่างก็มาคุกเข่ารับเสด็จ พลางส่งเสียงสาธุการแด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชที่ได้ทรงพระเมตตา”เรียกฝนดับไฟ”ให้มอดดับไป  หลายๆคนต่างร่ำไห้น้ำตาไหลอาบหน้าด้วยความตื้นตันและซาบซึ้งในพระกรุณาปาฏิหาริย์ซึ่งทรงสำแดงให้ปรากฏต่อหน้าต่อตาของทุกๆคนอย่างที่ไม่มีใครอายใครฯ”

                                     เรียบเรียงจาก  “สมเด็จพระสังฆราช”โดย “กันตสีโลภิกขุ”(Karyl  Bilbrey) จากนิตยสาร “น่านฟ้า”และ “เจ้าประคุณ” โดย”บรรณศาลา”จากหนังสือ”รวมเรื่องเล่า สิ่งที่เห็น”)

 

สังฆราชองค์นี้ ดีที่สุด”

                                        หลวงปู่ชอบ ฐานสโม วัดป่าสัมมานุสรณ์ เลย

 

“หลวงตาอาจจะมีบารมีทางด้านคุ้มครองรักษาประเทศชาติไทยเราได้  แต่หากเป็นด้านค้ำจุนพระศาสนาแล้ว สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศจะมีบารมีมากกว่าเสียอีกน๊ะ..!!!!!!!!!!!”
 
                                                                หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด อุดรธานี

…………………………นิพพานะปัจจะโยโหตุ

ใส่ความเห็น

Filed under Uncategorized

ความโง่…ของคนโง่.หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี

 

 

ความโง่ของคนโง่


แสดง ณ วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย


วันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๒๓
ได้เทศน์เรื่องความฉลาดมานานแล้ว วันนี้ขอได้พากันฟังเทศน์เรื่อง ความโง่


ความโง นั้นไม่มีขอบเขต ไม่มีใครให้ประกาศนียบัตรชั้นเอก ชั้นโท ชั้นตรี ไม่มีเลย ทั้งๆ ที่คนก็มีโง่อยู่แล้วแต่ไม่ชอบให้คนอื่นพูดว่าตนโง่ แล้วคนที่พูดนั้นถ้าพูดด้วยความเหยียดหยามดูถูกคนอื่นก็ยิ่งโง่กว่าเขาเสียอีก


เราพากันโง่อยู่ตลอดเวลา ความโง่อันนี้แหละทำให้เราเป็นคนจน ทำให้เราไม่สามารถจะฟื้นฟูตัวเราให้ขึ้นมาได้


โง่มีหลาย โง่ในการทำมาหาเลี้ยงชีพ โง่ในความไหว โง่ในการที่จะนำตนให้รอดปลอดภัย ฯลฯ ความโง่ที่หมักหมมอยู่ในใจของเรานั้น เราเรียนเท่าไรก็เรียนไปเถิดไม่จบไม่สิ้นสักที


คนนิยมเรียนความฉลาดข้างนอก เช่นเรียนวิชาวิทยาศาสตร์แผนใหม่อะไรต่างๆ เรียนไปหมดทุกอย่าง แต่ตัวของเราเองในนั้นไม่รู้เรื่อง มันโง่อยู่ภายใน นั่นคือความผิดความถูกที่เกิดขึ้นในใจของตน คิดว่าตนดี คิดว่าตนวิเศษ อันนั้นแสนโง่ทีเดียว


ถ้าเข้าใจว่าตนดี ตนฉลาด ตนวิเศษ ตนเลอเลิศด้วยสติปัญญาอุบายต่างๆอันนั้นแหละเป็นการโง่ที่สุด ถ้าคนใดเข้าใจว่าตนโง่คนนั้นฉลาดขึ้นมา เหมือนดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าคนใดเข้าใจว่าตนโง่คนนั้นฉลาดขึ้นมาบ้าง


วิชาทุกอย่างที่เราเรียน เป็นการเรียนออกไปภายนอกออกไปจากตัวของเรา ไม่ใช่เรียนเข้ามาในตัวของเรา เรียนส่งออกไปปรุงแต่งออกไปนอกจากกายนอกจากใจ คำว่า กาย มันจึงเพี้ยนเป็นกรายไปเสีย มันกรายออกไปจากกาย มันข้ามกายไปนั่นเองจึงไม่เห็นตนของตน เปรียบเหมือนกับตาไม่เห็นลูกตาหรือตาไม่เห็นก้ำด้น (ก้ำด้น คือ ท้ายทอยนั่นเอง) โบราณท่านว่า ตากับก้ำด้นอยู่ด้วยกันไม่ทราบว่ากี่ปีกี่ชาติแต่ไม่เคยเห็นกันเลย ก้ำด้นของตนแท้ๆ ไม่เคยเห็นสักที จึงว่ามันโง่ฝังอยู่นั่นแหละ ไม่เห็นตัวของเราเอง


การเรียนภายนอกนั้นปรุงแต่งออกไปไม่มีที่สิ้นสุด แต่เขาก็ว่าจบแล้วจะให้ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก อะไรต่างๆ ได้ปริญญาเขาก็ว่าจบแล้ว วิชานั้นมันจบที่ไหน อันของที่ไม่รู้ยังมีอีกเยอะแยะมากมายก่ายกอง ความรู้มันเปลี่ยนแปลงวิวัฒนาการไปเรื่อย มันไม่อยู่คงที่ จะว่าเรียนจบได้อย่างไร


หากเราพากันมาเรียนวิชาความโง่ เรียนสิ่งที่ไม่รู้ในกาย วาจา ใจ ของเราให้มันรู้ขึ้นมา จึงจะหมดความโง่ไป ถ้าไม่เห็นกายเห็นใจของตนมันก็ยังโง่อยู่นั่นเอง ถ้าเข้าใจว่าเห็นแล้ว มันเห็นจริงหรือไม่ มันเบื่อ มันหน่าย มันคลายไหม หรือว่ามันยังยึดถืออยู่ ความยึดความถือนั่นน่ะเรียกว่าไม่เห็นจริง


ตัวของเราเป็นอนัตตา สิ่งสารพัดวัตถุทั้งปวงทั้งหมดก็เป็นอนัตตา


อนัตตา คือว่ามันไม่อยู่ในบังคับบัญชาของเรา อนัตตาไม่ได้หมายว่าสิ่งนั้นๆไม่มี ของมีอยู่แต่มันไม่อยู่ในบังคับบัญชา เช่น กายของเรานี้จะไม่ให้แก่ มันก็แก่ ไม่ให้เจ็บมันก็เจ็บ ไม่ให้ตายมันก็ตาย ไม่ให้พลัดพรากจากกัน มันก็พลัดพรากจากไป ทำอย่างไรมันก็ไม่อยู่ในบังคับบัญชา นี่แหละท่านเรียกว่า อนัตตา การที่มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ อันนั้นแหละท่านเรียกว่า อนิจจัง ของไม่เที่ยง อนิจจังเป็นอนัตตา นี่แหละมันจึงได้เป็นทุกข์หรือ ทุกขัง ความจริง เรื่องกายและใจของเราเป็นอย่างนี้ เราเห็นเช่นนี้แล้วหรือยัง


ใครๆ ก็เห็นกายกันทุกคนละ แต่มันไม่เห็นจริง ไม่เห็นเป็นอนัตตา ไม่เห็นเป็นทุกขัง ไม่เห็นตามสภาพเป็นจริงทุกอย่าง จึงปล่อยวางไม่ได้ จึงได้ทุกข์ ที่เราเดือดร้อนกันอยู่ทุกวี่ทุกวันนี้ก็เพราะเหตุเห็นไม่จริงนั่นแหละ


พระพุทธเจ้าทรงเห็นกายและใจตามสภาพที่เป็นจริง อริยสงฆ์สาวกท่านก็เห็นตามเป็นจริง เรียกว่า อริยสัจจ์ นั่นคือ รูปเป็นอนัตตา รูปเป็นอนิจจัง รูปจึงเป็นทุกข์ เมื่อยังไม่เห็นจริงด้วยใจ เห็นแต่ตามสัญญาก็เห็นเป็นเพียง สัจจะ เฉยๆ ถ้าเห็นจริงเห็นชัดลงไปด้วยใจแล้วเรียกว่า เห็นอริยสัจจ์อันนั้นเป็นการเห็นของจริงของแท้ของอริยเจ้า ดังนั้นพวกเราอย่าไปหาธรรมะที่อื่นไกลเลย หาเอาในตัวของเรานี่ ผสมกันขึ้นในที่นี้ ให้ปรากฏเห็นขึ้นมาในที่นี้แหละ ใจคนเห็นกาย จึงอุปมาเหมือนกับเรียนสระกับพยัญชนะผสมกัน ผสมกันได้แล้วก็เขียนข้อความไปได้หมดทุกอย่าง จะขีดเขียนเรื่องอะไรๆ เขียนได้หมด มันออกจากสระกับพยัญชนะเท่านั้น


ธรรมทั้งหลายก็ออกมาจากกายกับใจไม่นอกเหนือจากกายกับใจ ใจมาพิจารณาตามจริง ถ้าหากไม่มีกาย ก็ไม่มีเรื่องทุกข์ ไม่มีอนัตตา ไม่มีอนิจจัง ไม่มีทุกขัง เพราะมีกายจึงมีอนิจจัง มีทุกขัง มีอนัตตา จึงมีวิปัสสนา มีมรรคผล นิพพาน มีญาณสมาธิ มีธรรมทั้งหลาย


พระพุทธเจ้าตรัสรู้สัมมาสัมโพญิญาณก็ตรัสรู้ที่กายกับใจนี่แหละ พระองค์ไม่ได้ไปตรัสรู้อย่างอื่นที่ไหนหรอก พระสงฆ์สาวกทั้งหลายสำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็สำเร็จมรรคผลนิพพาน ก็สำเร็จที่กายกับที่ใจนี่แหละ พวกเทพทั้งหลายสำเร็จมีแต่ใจเป็นพวกอามิสกายไม่มีรูปปรากฏ พวกพรหมก็ไม่ปรากฏรูป พระพุทธเจ้าไม่ได้ไปตรัสรู้ไม่ได้ทรงสอนที่โน่นหรอก ทรงเทศนาสอนมนุษย์พวกเราที่มีกายหยาบๆ เห็นกันอยู่ด้วยตานี่เอง


การเห็นด้วยตาเรียกว่า ทรรศนะมันยังเห็นไม่จริงไม่แท้ต้องเข้าไปเห็นจึงจะเป็นการเห็นอย่างแท้จริง การเห็นด้วยใจจึงเรียกว่า ญาณทัสนะ คำว่า เห็นด้วยใจ คือ มันชัดด้วยใจนั่นเอง ถ้าไม่ชัดก็ไม่เรียกว่าเห็นด้วยใจ เมื่อเห็นชัดด้วยใจนั่นเอง ถ้าไม่ชัดก็ไม่เรียกว่าเห็นด้วยใจ เมื่อเห็นชัดแล้วกายมันเป็นอนัตตา เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง ดังที่อธิบายในเบื้องต้น มันก็ปล่อยวางได้


นั่นคือปล่อยวางไว้ตามสภาพเดิมของมัน เห็นมันเป็นอนัตตาแล้วไม่ยึดถืออีก ปล่อยไปตาม สภาพอนัตตา มันเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยไป เห็นมันเป็นอนิจจัง ก็ยึดไว้ปล่อยไปตามเรื่องของมันตาม สภาพอนิจจัง มันเป็นทุกขัง มันเกิดเป็นทุกข์เพราะเหตุที่มันแปรปรวนบังคับไม่ได้ ก็ปล่อยไปตาม เรื่องของทุกข์ จึงว่ามันเป็นจริงอย่างไรให้เห็นตามเป็นจริงอย่างนั้น พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า


ยถาภูตํ สมมปปญญาย ทฏฐพพํ ควรให้เห็นของสิ่งนั้นๆตามเป็นจริง


นี่จึงจะได้ชื่อว่าเรียนความโง่ ไม่ใช่เรียนความฉลาด มันโง่ตรงนี้ โง่ที่ไม่เห็นกายของเรา ไม่เห็นใจของเราเอง


แต่ไหนแต่ไรมาแล้ว ทุกๆ คนที่เกิดขึ้นมาได้ชื่อว่าโง่ด้วยกันทั้งนั้น ครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนแนะนำตักเตือนอะไรต่างๆ เพื่อให้รู้ความโง่นั่นแหละ ไม่ใช่เรียนความฉลาดหรอกให้รู้ความโง่ทั้งนั้นแหละ อันของที่ไม่รู้จึงค่อยเรียน ความไม่รู้ความไม่เข้าใจนั่นแหละมันโง่ ผู้ที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ทั้งปวงเขาไม่ถือว่าตนฉลาด ความโง่ของคนเรามันยังลึกซึ้งละเอียดมากเหลือมาก ยิ่งเรียนเท่าไรยิ่งเห็นความโง่ของตนมากขึ้นเท่านั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้เราเรียนความฉลาด


เมื่อรู้จักโง่ เห็นโง่แล้ว ความรู้นั้นแลเป็นความฉลาด การไม่เห็นความโง่ของตนแต่สำคัญว่าตนฉลาด นั่นยิ่งโง่เข้าทุกทีเหตุนั้นการปฏิบัติของพวกเรา จงปฏิบัติตรงที่กายกับใจ นี่แหละ อย่าส่งออกไปภายนอก ใครเรียนอะไรที่ไหนก็เรียนไปเถิดถ้าเพ่งเข้ามาภายในตัวนั้นเรียกว่าเรียน ความโง่ของตน อย่าส่งออกไปภายนอกก็แล้วกัน


การเรียนกัมมัฏฐานแบบต่างๆหลายเรื่องหลายอย่าง หลายครูหลายอาจารย์ เช่น ยุบหนอพองหนอ สัมมาอรหัง อานาปานสติ พุทโธ ทั้งหมดนี้ก็เรียนโง่ด้วยกันทั้งนั้น คือ เรียนให้เห็นตัวโง่ ตั้งใจให้มีสติควบคุมจิตที่มันนึกคิดที่มันปรุงแต่งให้รู้เรื่องของจิต ให้เห็นจิตรู้จักจิตเสียก่อน ถ้าไม่เห็นจิตมันก็รักษาจิตไว้ไม่ได้ คุมจิตไม่ได้ ชำระจิตไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่าจิตมันคิดมันนึกปรุงแต่งอะไรบ้าง มันส่งส่ายไปไหนก็ไม่ทราบ


ใครๆ ก็พูดถึงจิตถึงใจ จิตเป็นทุกข์ จิตเดือดร้อน จิตยุ่งวุ่นวาย จิตกระวนกระวาย จิตกระสับกระส่าย มันเรื่องของจิตทั้งนั้นแหละ แต่ยังไม่เคยเห็นจิตสักที จิตแท้เป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เมื่อไม่เห็นจิตไม่เห็นใจ มันก็ไม่มีโอกาสที่จะชำระได้ต้องเห็นตัวมันเสียก่อน รู้จักตัวที่เราพูดถึงเสียก่อน พอเราเดือดร้อนเรายุ่งเหยิงหรือส่งส่ายเราก็แก้ตรงนั้นเอง


อาการของใจ เรียกว่า จิต คือ ผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุงแต่งผู้ส่งส่ายไปมาหน้าหลังสารพัดทุกอย่างรอบด้านรอบข้าง ผู้นั้นเหละเรียกว่า จิต เราเอาสติไปคุมไว้ให้รู้จริงนั้นอยู่เสมอๆตลอดเวลาเห็นจิตของตนอยู่เสมอว่าจิตเป็นอย่างไร มันคิดดีคิดชั่ว คิดหยาบคิดละเอียด คิดปรุงแต่งอะไร ก็ให้รู้เห็นทุกขณะควบคุมมันอยู่อย่างนั้นเป็นนิจ เมื่อเห็นจิตแล้ว ควบคุมจิตอยู่แล้วเวลาจะคิดก็ให้มันคิดได้ จะนึกก็ให้มันนึกได้ มีสติกำกับอยู่ว่าคิดว่านึก เวลาไม่ให้คิดไม่ให้นึกก็อยู่ได้ ไม่ให้ปรุงแต่งก็อยู่ได้ อย่างนี้จึงจะเรียกว่า บังคับจิตอยู่ อย่าให้จิตบังคับเรา


โดยทั่วไปจิตบังคับให้เรากระทำทุกสิ่งทุกอย่าง เราอยู่ในอำนาจของจิต มันเป็นไปตามวิสัยอำนาจของจิต คนปุถุชนมันต้องเป็นอย่างนั้น เมื่อเรากำหนดสติควบคุมจิตได้แล้ว เราจึงไม่อยู่ในอำนาจของจิต แต่จิตอยู่ในอำนาจของเรา มันชักชวนไปทางดีทางชั่วอีกก็ไม่ให้ไป นิ่งอยู่ได้ เช่น มันชักชวนไปในทางชั่วให้โลภ ให้โกรธ ให้หลง ให้คิดประหัตประหารฆ่าตีเขาก็บอกมันว่าไม่ดีอย่าทำ คิดทางดีให้สร้างบุญสร้างกุศลก็ไม่ให้ไปอยู่คงที่ เมื่อหยุดส่ายอยู่คงที่มันก็เข้าถึง ใจ คือ ความเป็นกลาง


ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าจิตกับใจมันต่างกัน คนละอันกัน แต่แท้ที่จริงท่านพูดอันเดียวกันนั่นแหละ จิตอันใดใจอันนั้นใจอันใดจิตอันนั้น แต่ทำไมจึงเรียกว่าจิต ทำไมจึงเรียกว่าใจ ก็ลองคิดดูซิมันต้องมีแปลกกันอยู่ ใจมันต้องอยู่เฉยๆ คืออยู่กลางสิ่งใดเป็นกลางๆ จะเรียกสิ่งนั้นว่าใจ เช่น ใจมือ ใจเท้า ก็ชี้ลงตรงกลางมือกลางเท้า ใจคนก็ชี้ลงท่ามกลางใจหน้าอก ไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนหรอก แต่ชี้ลงท่ามกลางอกเรียกว่า ใจ ที่เรียกว่าใจ คือมันอยู่ท่ามกลางสิ่งต่างๆ ไม่คิดดี ไม่คิดชั่ว ไม่คิดหยาบ ไม่คิดละเอียด ไม่ปรุง ไม่แต่งอะไรทั้งหมด แต่มีความรู้สึกอยู่เฉยๆ ตรงนั้นแหละเป็น ใจ


เมื่อเราตั้งสติกำหนดจิตที่มันกระสับกระส่ายดิ้นรน เดือดร้อนวุ่นวาย คอยควบคุมระวังตัวนั้นไว้จนหยุดดิ้นรน หยุดแส่ส่าย มีความรู้ สึกเฉยๆ รู้สึกเฉพาะตัวของมันเองไม่คิดไม่นึกอะไร อันนั้นแลเป็น ใจ ตัวเดิมแท้


ใจนี้มันจะดีอย่างไร ลองคิดดูซิ ถ้าเมื่อคุมจิตได้ เข้าถึงใจได้ก็ไม่มีอะไร มีความรู้สึกเฉยๆเฉพาะตัว ความวุ่นวายเดือดร้อนต่างๆ มันก็หายไปหมด มีแต่ความสุขอันเกิดจากความสงบนั้น เอาความสุขแค่นั้นเสียก่อน สุขอันนั้นถ้าอยู่ได้นานเท่าไรยิ่งดี แต่คนเราไม่ชอบ ชอบให้จิตมันบังคับให้เราเดือดร้อนวุ่นวาย เดี๋ยวก็ร้องไห้ร้องห่ม เดี๋ยวก็หัวเราะเฮฮาเพลิดเพลินเดี๋ยวก็เอะอะโวยวายสารพัดทุกอย่าง เราร้องไห้ก็เพาะมันบังคับให้เราร้องทั้งที่เราไม่อยากร้องไห้ การร้องไห้น่าเกลียดจะตายน่าอับอายขายขี้หน้าคนอื่น แต่มันก็บังคับเอาจนร้องไห้ให้ได้ การหัวเราะก็เหมือนกันหัวเราะเพลิดเพลินสนุกสนานดี มันชอบใจ มันน่าที่จะหัวเราะเพลินเพลิดอยู่เสมอตลอดไป แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น จิตมันทำให้ร้องไห้ก็ได้ หัวเราะก็ได้ นั่นเพาะเราบังคับมันไม่ได้ ถ้าเราบังคับมันได้แล้วมันก็หยุด เอาสติเข้าไปตั้งเมื่อไรหยุดเมื่อนั้น สตินี้ดีมากเป็นเครื่องควบคุมจิตได้ทุกอย่าง


ได้พูดถึงเรื่องความโง่แล้ว เรามาเรียนความโง่กันเถิดเรียนอย่างวิธีที่อธิบายมานี่แหละ มันจึงจะค่อยหายโง่ ความโง่ไม่มีที่สิ้นสุดหรอก ยิ่งเรียนก็ยิ่งเห็นความโง่ของตน มันลึกจมอยู่ในก้นบึ้งโน่น ท่านว่า อนุสัย ตราบใดที่ยังไม่ถึง มรรคผล นิพพาน ตราบนั้นยังมีความโง่อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจงพากันเรียนความโง่กันเสียวันนี้


อธิบายมาก็สมควรแก่เวลา เอวํ ฯ


นั่งกัมมัฏฐานหาความโง

ท่านอาจารย์อบรมนำก่อน

 

เคยได้ยินบางคนพูดเป็นเชิงเหยียดหยามดูถูกกัมมัฏฐานว่า “นั่งหลับตาภาวนาโง่อย่างกัมมัฏฐาน” พวกเราจงพากันทำกัมมัฏฐานให้โง่อย่างเขาว่าดูซิมันจะโง่จริงหรือเปล่า

ขั้นที่หนึ่ง นั่งหลับตาแล้วพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เอา ๕ อย่างนี้เสียก่อน ให้เป็นอสุภะของไม่งาม เมื่อจะพิจารณาให้เลือกเอาอันเดียว ไม่ต้องเอามากอย่าง เช่น เลือกผมก็พิจารณาแต่ผมอย่างเดียว พิจารณาจนให้เห็นชัดว่า ผมเป็นของปฏิกูลจริงๆ เบื่อหน่าย คลายเสียจากความรักใคร่ว่าผมเป็นของสวยงามจนเป็นเหตุให้เกิดความใคร่ นี่หายจากความโง่ขั้นหนึ่งละ

ขั้นที่สอง เห็นเป็นอสุภะทุกอวัยวะทั่วหมดทั้งตัวด้วยใจไม่ได้ลังเลแต่อย่างใด จะเห็นเปื่อยเน่าเฟะไปหมดไม่มีชิ้นดีแม้แต่นิดเดียว คราวนี้ไม่ใช่เพียง ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง แต่ทั้งหมดด้วยกันจะเป็นอสุภะทั้งนั้น แล้วอยากจะทอดทิ้งถ่ายเดียวถ้าสติคุมจิตไว้ไม่ได้ก็จะเสียคน ที่เรียกว่า วิปลาส (คำว่าวิปลาส นักปฏิบัติทั้งหลายกลัวนักกลัวหนา แต่หลงในกามไม่ยักกลัวเพราะคนส่วนมากรู้จักกันดี)

ขั้นที่สาม เมื่อสติคุมจิตให้อยู่ในที่เดียวแล้ว ก็จะพิจารณาทวนทบไปๆ มาๆ ว่า ที่เราพิจารณาเห็นเป็นอสุภะนั้นแท้จริงแล้วกายนี้มันก็ยังปกติตามเดิมนั้น เอง ที่เราเห็นเป็นอสุภะนั้น เพราะจิตเราเป็นสมาธิต่างหาก เมื่อจิตถอนออกมาจากสมาธิแล้ว มันก็เป็นอยู่อย่างเดิม

ใช่อันนี้หรือเปล่าที่เรียกว่า นั่งหลับตาภาวนาโง่อย่างกัมมัฏฐานนั้น แท้จริงกัมมัฏฐานคือ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง มีอยู่ด้วยกันทุกๆคนมิใช่หรือ ผู้มาเพ่งพิจารณาให้เห็นอสุภะตามเป็นจริง ทำไมจึงเรียกว่าโง่ ผู้ไม่ได้เพ่งพิจารณาให้เห็นอสุภะตามเป็นจริงนั้นหรือเป็นผู้ฉลาด แปลกจริงหนอ ความเห็นของคนเรานี้ ผู้เห็นตามสภาพความเป็นจริงแทนที่จะเรียกว่าผู้ฉลาดกลับเห็นว่าโง่ไปได้ ผิดวิสัยของคนทั่วไปเสียแล้ว ยิ่งกว่านั้นพระบางองค์(ขอโทษ) เป็นถึงอุปัชฌาย์อาจารย์สอนกัมมัฏฐาน ๕ แก่ลูกศิษย์ ลูกศิษย์ได้แล้วไปถามเข้า เลยหาว่าโง่เข้าไปโน่นอีกผู้เห็นเช่นนี้มิเป็นการเหยียดหยามดูถูกเราพร้อม ทั้งต้นตระกูลของเราที่เป็นพระสงฆ์ (คือพระพุทธเจ้า)เสียหรือ เมื่อเหยียดหยามดูถูกเช่นนั้นได้แล้ว ความเป็นพระจะมีอะไรเหลืออยู่อีกเล่า เราผู้เป็นสงฆ์ฆราวาสญาติโยมเขาเคารพนับถือ ควรที่จะระวังสังวรถึงแม้จะพูดเล่นก็ไม่เป็นการสมควรโดยแท้

ความโง่มันซ่อนเร้นอยู่ตาม ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง นี้แหละ ฉะนั้นจงค้นให้เห็นตัวมัน ถ้าค้นหาตัวความโง่เห็นแล้วจะอุทานว่า อ๋อ! มันเป็นอย่างนี้เอง ท่านจึงสอนให้พิจารณา เราทอดทิ้งมาเป็นเวลานาน มีแต่เห็นว่า ผมมันสวยงาม มันหงอกก็หายามาย้อมไว้ให้คนหลงว่าดำอยู่ ขนก็เช่นเดียวกัน มันรกรุงรังก็โกนให้คนอื่นเห็นว่าเกลี้ยงเกลาไม่มีขน เล็บมันไม่แดงก็เอาสีมาทาไว้ให้คนเข้าใจว่าเล็บแดง ฟันก็เอาทองมาหุ้มไว้ให้เหลืองอร่ามไปหมด หนังมันย่นหดหู่ก็ลอกให้มันเป็นหนังใหม่ลอกแล้วไม่กี่วันมันก็ย่นยู่หดหู่ อีก จะหลอกคนภายนอกไปอย่างไรก็หรอกไปเถิด แต่ในใจของตนย่อมรู้ดีว่าหลอกลวงคนอื่น เหมือนกับนายพรานดักนกมุ่งแต่จะเอาเขาฝ่ายเดียว ผีไม่ตายหลอกเขาไม่มีใครกลัวหรอก นอกจากเขาจะไม่กลัวแล้ว ท่านผู้มีปัญญายังจะต้องยิ้มขบขันเสียอีก

 

 

ใส่ความเห็น

Filed under Uncategorized

เอกอัครอรหันต์…หลวงตามหาบัว

“ในอนาคตเบื้องหน้า  พระมหาบัวผู้นี้จักทำประโยชน์ใหญ่ให้แก่ประเทศชาติและพระศาสนา..!!!!”
            
         (พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตมหาเถระ พระบุพพาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานกล่าวพยากรณ์ไว้เมื่อพ.ศ. 2482)

 

“หลวงตามหาบัวเป็นพระอรหันต์ร้อยเปอร์เซ็นต์ พันเปอร์เซ็นต์..!!!!”
                            
(หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก วัดทุ่งสามัคคีธรรม สุพรรณบุรี)

 
ขวา) สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (ซ้าย) พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
(ถ่ายเมื่อ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ณ วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง จ.อุดรธานี)

“เมตตาของหลวงตามหาบัวที่ได้ออกมาทำโครงการผ้าป่าช่วยชาตินั้น เปรียบเสมือนกับผืนแผ่นฟ้าที่ห่มคลุม(ปกป้อง)แผ่นดินไทยไว้ทั้งหมดเลยทีเดียว..!!!!!”
                                สมเด็จพระญาณสังวร  สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

 

 “ถ้าไม่(ทรงคุณธรรม)“ถึงขั้น”จริงๆแล้วละก็ จะถามปัญหาแบบนี้ไม่ได้หรอกนะ..!!?!”
                                 
หลวงปู่แหวน สุจิณฺโณ กล่าวชมหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนในการสนทนาถามปัญหาธรรมครั้งหนึ่ง

“บุญอะไร ก็ไม่เท่าบุญที่ทำกับหลวงตามหาบัว…”
“เสียดายที่โยมพ่อโยมแม่ของอาตมาตายไปเสียก่อน หาไม่แล้ว จะต้องให้มาทำบุญกับหลวงตาเสียเลยทีเดียว..!!!!”
                                                        (หลวงพ่อสังวาลย์ เขมโก วัดทุ่งสามัคคีธรรม สุพรรณบุรี)

“ในยุคนี้ ไม่มีใครเกินหลวงตามหาบัว..!!!!”
                                                     (หลวงพ่อแนน สุภัทโท วัดซำขาวถ้ำยาว จ.ขอนแก่น)

 

“หลวงตามหาบัวเคยเล่าให้หลวงตาพุธฟังครั้งหนึ่งว่า….
แต่ก่อนนั้น หลวงตาอยากเป็นพระ  เมื่อได้บวช ก็เป็นพระสมใจแล้ว
ต่อมา หลวงตาอยากเป็นพระมหา สอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ก็ได้ชื่อว่า”มหาบัว”สมดังปรารถนาแล้ว
ต่อมาอีก หลวงตาอยากเป็นพระนักปฏิบัติ ก็ออกธุดงค์วัตรปฏิบัติธรรม ก็ได้ชื่อว่าเป็นพระนักปฏิบัติแล้ว
ครั้นสุดท้าย หลวงตาอยากสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ก็ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างเต็มกำลัง
แต่…คราวนี้ “ความอยากเป็นพระอรหันต์”ไม่รู้หายไปไหนหมดแล้ว…!!??”

“ได้ยินชื่อท่าน(พระมหาบัว)มานานแล้วหลายสิบปี ท่านเป็นพระอรหันต์นะองค์นี้ ข้ารู้มานานแล้ว..!!!!”
                                                        
หลวงปู่ดู่ พรหมปัญโญ วัดสะแก พระนครศรีอยุธยา

             เพื่อเป็นการบูชาคุณแห่งพระอรหันต์ ข้าพเจ้าขอน้อมนำธรรมะของหลวงตามหาบัว มาเผยแพร่ไว้ ณ โอกาสนี้

 (การปฏิบัติเพื่อเข้าสู่นิพพาน)

 นิพพา น ปัจจโยโหตุ.

เขมํ วิมุตฺติ

 

ใส่ความเห็น

Filed under Uncategorized